กากถั่วเหลือง อาหารสัตว์ที่เป็นที่นิยม เพราะประหยัดและคุณค่าสูง


แชร์ให้เพื่อน :

กากถั่วเหลือง อาหารสัตว์ที่เป็นที่นิยม เพราะประหยัดและคุณค่าสูง              

สำหรับผู้ประกอบการฟาร์มสัตว์ต่างๆ ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นฟาร์มหมู ฟาร์มไก่ ฟาร์มวัว หรือแม้แต่กระทั่งสัตว์น้ำอย่างปลา กุ้ง เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คงเป็นอาหารสัตว์เหล่านั้น ในปัจจุบันอาหารสัตว์มีให้เลือกมากมายหลายแบบ อย่างอาหาสำเร็จรูป อาหารผสม

และหนึ่งในอาหารที่เป็นที่นิยมมาก ก็คือ กากถั่วเหลือง เพราะอุดมไปด้วยโปรตีนและสารอาหารหลักต่างๆ มากมาย ทั้งยังราคาไม่แพง สามารถควบคุมต้นทุนอาหารสัตว์ได้อย่างแน่นอน

 

โปรตีน เป็นโภชนะที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการดำรงชีวิต และการให้ผลผลิตของสัตว์ สัตว์จะได้รับโปรตีนจากอาหารหยาบ และอาหารข้น ซึ่งอาหารข้นจะเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยเฉพาะวัตถุดิบแหล่งโปรตีนได้แก่ ปลาป่น กากถั่วเหลืองต่างๆ กากเมล็ดทานตะวัน ฯลฯ

เมล็ดถั่วเหลือง เป็นอาหารแหล่งโปรตีนที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ดี เพราะมีโปรตีนสูงถึง 34 เปอร์เซ็นต์ และเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูงมีกรดอะมิโนจำเป็น (Essential amino acid) หลายชนิด แต่มี Cystine และ Methionineในระดับต่ำ มีฟอสฟอรัสสูง แต่มีแคลเซี่ยม และวิตามินบีต่ำ การใช้เมล็ดถั่วเหลืองดิบเลี้ยงสัตว์ จะทำให้สัตว์ได้รับประโยชน์จากโปรตีนไม่เต็มที่ มีการเจริญเติบโตต่ำ หรือชงักการเจริญเติบโต เพราะเมล็ดถั่วเหลืองดิบมีสารยับยั้งการใช้ประโยชน์จากโปรตีน (Trypsin Inhibitor) นอกจากนี้ ยังมีเอ็นไซม์ยูรีเอส (Urease enzyme) ซึ่งจะย่อยโปรตีนในเมล็ดถั่วเหลืองให้สลายไปเรื่อยๆ ทำให้ปริมาณ และคุณภาพของโปรตีนลดลงในขณะที่เก็บรักษาไว้ แต่สารทั้ง 2 ชนิดนี้ถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน ดังนั้น ในการนำเมล็ดถั่วเหลืองไปเลี้ยงสัตว์ จึงควรนำไปทำให้สุกหรือผ่านความร้อนเสียก่อน เพื่อเป็นการลดปริมาณสารTrypsin Inhibitor และเอ็นไซม์ยูรีเอส เมล็ดถั่วเหลืองที่นำมาใช้ผสมในอาหารสัตว์มี 2 ชนิดคือ

1. กากถั่วเหลือง (Soybean meal) เป็นผลิตผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันพืช โดยปริมาณโปรตีนของกากถั่วเหลืองจะขึ้นอยู่กับวิธีการสกัด น้ำมัน และขนาดของเมล็ด

2. ถั่วเหลืองเอ็กซ์ทรูด หรือถั่วเหลืองไขมันเต็ม (Extruded soybean หรือ Full fat soybean) เป็นถั่วเหลืองที่ได้จากการนำเมล็ดถั่วเหลืองไปทำให้สุก โดยไม่มีการสกัดน้ำมันออก

 

กากถั่วเหลือง

กากถั่วเหลืองมี 2 ชนิด คือ

1. กากถั่วเหลืองที่มีเปลือกผสมอยู่ด้วย หรือที่เรียกกันในทางการค้าว่ากากถั่วเหลือง 44% จากการวิเคราะห์คุณภาพของกากถั่วเหลืองชนิดนี้ โดยกองอาหารสัตว์พบว่ามีโปรตีนประมาณ 47.6 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย (Crude fiber) ประมาณ 6.6 เปอร์เซ็นต์

2. กากถั่วเหลืองที่ไม่มีเปลือกผสมอยู่ มีแต่เนื้อในล้วนๆ หรือที่เรียกกันในทางการค้าว่ากากถั่วเหลือง 49% จากการวิเคราะห์พบว่ามีโปรตีนสูงถึง 51.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเยื่อใยต่ำกว่าชนิดที่เปลือกผสมคือ มีประมาณ 4.9 เปอร์เซ็นต์

                   

กากถั่วเหลืองที่นำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ จะต้องมีความชื้นไม่เกิน 12 เปอร์เซนต์ มีลักษณะเป็นเกล็ด บาง เบา เมื่อใช้มือบี้จะมีลักษณะแข็ง กรอบ ไม่ดิบ หรือไหม้ ไม่มีกลิ่นหืน หรือกลิ่นสาบ และไม่มีสิ่งปลอมปน

 


ลักษณะของกากถั่วเหลืองที่ไม่ควรนำมาใช้เลี้ยงสัตว์คือ

1. มีความชื้นสูง กากถั่วเหลืองที่มีความชื้นสูงจะมีลักษณะจับกันเป็นก้อน มีขนาดไม่แน่นอน และเกิดเชื้อราได้ง่าย
2. ดิบหรือไหม้ ซึ่งเป็นผลจากการให้ความร้อนในขบวนการเผาไหม้

กากถั่วเหลืองดิบ หรือสุกไม่ดีพอ จะมีสีซีด กลิ่นเหม็นเขียว จับตัวกันเป็นก้อน สาเหตุมาจาก
– ความร้อนที่ให้แก่เมล็ดถั่วเหลือง  เพื่อการระเหยน้ำ และความร้อนที่เกิดจากแรงอัด เพื่อสกัดน้ำมันในขบวนการสกัดน้ำมันโดยใช้แรงอัด ต่ำกว่าอุณหภูมิที่กำหนด

– ความร้อนที่ใช้เพื่อระเหย Solvent ออกจากกากถั่วเหลืองในขบวนการสกัดน้ำมัน โดยใช้ Solvent ต่ำกว่าอุณหภูมิที่กำหนด

                   

กากถั่วเหลืองประเภทนี้จะมีสาร Trypsin Inhibitor ค่อนข้างสูง และยังมีเอ็นไซม์ยูรีเอสเหลืออยู่ค่อนข้างสูง กากถั่วเหลืองที่เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ ควรจะมีค่า Urease Index (pH) อยู่ในช่วง 0.02–0.2 ซึ่งจากการตรวจสอบตัวอย่างกากถั่วเหลือง โดยกองควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์พบว่า ตัวอย่างกากถั่วเหลืองจำนวน 98 เปอร์เซ็นต์ มีค่า pH อยู่ในช่วง 0–0.25 ส่วนตัวอย่างกากถั่วเหลืองที่ค่อนข้างดิบมีค่า pH สูงกว่า 0.25 มีเพียง 2 เปอร์เซนต์ เท่านั้น

กากถั่วเหลืองไหม้ จะสังเกตได้ว่ามีกลิ่นเหม็นไหม้ และมีรสขม เพราะความร้อนที่ใช้ในขบวนการผลิตสูงกว่าอุณหภูมิที่กำหนด กากถั่วเหลืองประเภทนี้จะมีคุณค่าทางอาหารลดต่ำลง เพราะการใช้ประโยชน์ได้ของสารอาหาร โดยเฉพาะกรดอะมิโนจำเป็น เช่น ไลซีน เมทไธโอนีน จะใช้ได้น้อยลง

           

3. กากถั่วเหลืองเก่า จะมีกลิ่นเหม็นหืน หรือเหม็นสาบ หรือมีแมลงขึ้น หรืออาจเกิดเชื้อรา ดังนั้น เกษตรกรที่ซื้อกากถั่วเหลืองมาเพื่อผสมอาหารสัตว์จะต้องระวัง ไม่เลือกซื้อกากถั่วเหลืองที่มีลักษณะดังกล่าว เพราะสัตว์ไม่ชอบกิน จะกินน้อยลงทำให้สัตว์ได้รับอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ คุณค่าทางอาหารต่ำ โดยโปรตีนจะลดลงทั้งปริมาณ และคุณภาพ อาจมีสาร Aflatoxin จากเชื้อรา หรืออาจปนเปื้อนเชื้อโรคติดต่อจากสัตว์

           

4. มีสิ่งปลอมปน  ซึ่งบางครั้งจะสังเกตุเห็นได้ยาก กากถั่วเหลืองประเภทนี้จะมีคุณค่าทางอาหารผิดปกติ เช่น ปลอมปนด้วยซังข้าวโพด หรือรำข้าว จะทำให้ปริมาณโปรตีนลดลงในขณะที่ค่าเถ้าอยู่ในระดับปกติ ถ้าปลอมปนด้วย ดิน หิน จะทำให้โปรตีนลดลง แต่ปริมาณเถ้าเพิ่มขึ้น หรือถ้าปลอมปนด้วยกากถั่วเหลือง จะไม่ทำให้ปริมาณโปรตีนลดลง แต่คุณภาพของโปรตีนจะลดลง

 

 

ถั่วเหลืองเอ็กซ์ทรูด

ถั่วเหลืองเอ็กซ์ทรูด ได้จากการทำถั่วเหลืองดิบให้สุกด้วยเครื่องเอ็กซ์ทรูดเดอร์ (Extruder) โดยไม่มีการสกัดเอาไขมันออก ถั่วเหลืองชนิดนี้จะมีคุณค่าทางอาหารสัตว์สูง เป็นทั้งแหล่งโปรตีน และพลังงาน โดยมีโปรตีนประมาณ 39.1 เปอร์เซ็นต์ และมีไขมันสูงถึง 20.1เปอร์เซ็นต์ มีสาร Trypsin Inhibitor และเอ็นไซม์ยูรีเอสเหลืออยู่น้อยมาก นอกจากนี้ แป้งยังมีลักษณะเป็น gelatin ทำให้ขบวนการย่อยอาหารของสัตว์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

ถั่วเหลืองเอ็กซ์ทรูดที่ไม่ควรนำมาใช้เลี้ยงสัตว์ จะมีลักษณะเช่นเดียวกับกากถั่วเหลืองคือ

1. ดิบหรือไหม้

2. มีสิ่งปลอมปน ที่มีลักษณะคล้ายถั่วเหลือง เช่น รำข้าว ฯลฯ

3. มีกลิ่นเหม็นหืน เนื่องจากไขมันในถั่วเหลืองเอ็กซ์ทรูดส่วนใหญ่เป็นพวกกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated fatty acid) ดังนั้น ถ้าขบวนการผลิตไม่ดีพอ จะทำให้หืนเร็ว

ถั่วเหลืองเอ็กซ์ทรูดที่มีลักษณะดังกล่าว นอกจากสัตว์ไม่ชอบกินแล้ว ยังมีคุณค่าทางอาหารสัตว์ต่ำ เพราะเปอร์เซนต์โปรตีน และคุณภาพของโปรตีนลดลง ทั้งอาจมีสารที่ก่อให้เกิดอัตรายต่อสัตว์ หรืออาจมีเชื้อโรคที่ติดต่อไปยังสัตว์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงที่จะนำมาใช้เลี้ยงสัตว์

       

 

เอกสารประกอบการเรียบเรียง

กองโภชนาการ. 2530. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.กองโภชนาการกรมอนามัย.48 หน้า.

พันทิพา พงษ์เพียจันทร์. 2539. หลักการอาหารสัตว์ เล่ม 2 หลักโภชนศาสตร์และการประยุกต์ พิมพ์ครั้งที่1.  โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์. กรุงเทพฯ. 576 น.

พันทิพา พงษ์เพียจันทร์. 2539. การผลิตอาหารสัตว์ พิมพ์ครั้งที่ 1.โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์ กรุงเทพฯ. 294น.

สุกัญญา จัตตุพรพงษ์. 2539. การตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบอาหารสัตว์. ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเลี้ยงสุกรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม. 194 น.

National Research Council. 1994. Nutrients Requirements of Poultry. Ninth Revised Edition.National Academy Press. Washington, D.C., U.S.A. 155 p.

ขอขอบคุณ
http://nutrition.dld.go.th/Nutrition_Knowlage/ARTICLE/ArtileP.htm

แชร์ให้เพื่อน :