
การเลี้ยงสุกรหรือหมู การเตรียมโรงเรือน อาหารหมู
สวัสดีชาวฟาร์มทั้งหลายครับ วันนี้เรามาดูวิธีการเลี้ยงหมูและการเตรียมโรงเรือนของหมู อาหารและรู้จักกับหมูพันธ์ต่างๆ พร้อมทั้งโรคติดต่อของหมูกันครับ
ข้อมูลหมู
การเลี้ยงหมูของเกษตรกรไทย แต่เดิมเป็นการเลี้ยงแบบหลังบ้าน เลี้ยงไว้โดยให้กินเศษอาหารที่มีอยู่ หรือที่เก็บรวบรวมได้ตามบ้าน เช่น เศษข้าว เศษผัก ปลีกล้วย ผักที่ปลูกได้ตามบ้าน ผู้เลี้ยงไว้เป็นจำนวนมากๆ ได้ มักทำอาชีพอื่นๆ อยู่ด้วย เช่น เป็นเจ้าของโรงสีซึ่งมีรำที่เป็นอาหารหลักของหมูได้ เป็นต้น ผู้เลี้ยงหมูแต่ก่อนมักเป็นชาวจีน รองลง มาก็เป็นผู้เลี้ยงชาวไทยเชื้อสายจีนส่วนมาก

อาหารหมูแบบง่ายๆ ของชาวบ้าน

อาหารหมูแบบง่ายๆ ของชาวบ้าน
ปัจจุบันการเลี้ยงหมู ก้าวหน้ากว่าแต่ก่อนมาก การเลี้ยงดู ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์ มีการศึกษา และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่เดิมหมูให้ลูกได้ปีละหนึ่งครั้ง ลูกที่ให้แต่ละครั้งก็ไม่แน่นอน บางครั้งก็น้อย บางครั้งก็มาก ครั้งใดที่ให้ลูกมาก อัตราการตายของลูกก็จะสูง ส่วนปัจจุบัน หมูสามารถให้ลูกได้ถึง ๕ ครอกใน ระยะเวลา ๒ ปี แต่ละครอกมีลูกหมูหลายตัว อัตราการเลี้ยงให้อยู่รอดก็สูง ลูกหมูหลังคลอดใช้ระยะเวลาเลี้ยงไป จนถึงน้ำหนักส่งตลาดเพียง ๕ เดือนกว่าเท่านั้น
แหล่งที่มีการเลี้ยงหมูกันมากในประเทศไทย ได้แก่ แถบบริเวณภาคกลางของประเทศ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครปฐม ราชบุรี ชลบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นต้น หมูที่เลี้ยงทางแถบภาคกลางนี้ จะไม่มีพันธุ์พื้นเมืองเลย เป็นหมูพันธุ์ต่างประเทศทั้งหมด หมูพันธุ์ต่างประเทศที่นิยมเลี้ยงกัน ได้แก่ พันธุ์แลนด์เรซ พันธุ์ลาร์จไวต์ พันธุ์ดูร็อก และหมูพันธุ์ลูกผสมต่างๆ เป็นต้น
จำแนกพันธุ์สุกรตามการใช้ประโยชน์
ประเภทมัน เป็นสุกรรูปร่างตัวสั้น อ้วนกลม มีมันมาก สะโพกเล็ก โตช้า เช่น สุกรพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทย
ประเภทเนื้อ รูปร่างสั้น ไหล่และสะโพกใหญ่ เด่นชัด ลำตัวหนาและลึก ได้แก่ พันธุ์ดูร็อคเจอร์ซี่ เบอร์กเชียร์ แฮมเเชียร์ เป็นต้น
ประเภทเบคอน รูปร่างใหญ่ ลำตัวยาว มีเนื้อมาก ไขมันน้อย ได้แก่ พันธุ์แลนด์เรซ ลาร์จไวท์ เป็นต้น
พันธุ์หมูจากต่างประเทศ และพันธุ์หมูพื้นเมืองที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย
พันธุ์หมูจากต่างประเทศ และพันธุ์หมูพื้นเมืองที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย
พันธุ์ลาร์จไวท์
– ถิ่นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ
– หูตั้ง ลำตัวยาว กระดูกใหญ่ โครงใหญ่ หน้าสั้น หัวใหญ่
– โตเต็มที่น้ำหนัก 200-250 กิโลกรัม
– ให้ลูกดกเฉลี่ย 9-10 ตัว เลี้ยงลูกเก่ง
– มีความแข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว
– เหมาะที่ใช้เป็นทั้งสายพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์

หมูพันธุ์ลาร์จไวท์
พันธุ์แลนด์เรซ
– ถิ่นกำเนิดจากประเทศเดนมาร์ค
– มีสีขาว หูปรก ลำตัวยาว
– มี ซี่โครงมากถึง 16-17 คู่ (สุกรปกติมีกระดูกซี่โครง 15-16 คู่)
– โตเต็มที่ 200-250 กิโลกรัม
– ให้ลูกดกเฉลี่ย 9-10 ตัว เลี้ยงลูกเก่ง หย่านมเฉลี่ย 8-9 ตัว
– พันธุ์แลนด์เรซเหมาะที่ใช้เป็นสายแม่พันธุ์

หมูพันธุ์แลนด์เรซ
พันธุ์ดูร็อคเจอร์ซี่
– ถิ่นกำเนิดจากประเทศอเมริกา
– หูปรกเป็นส่วนใหญ่ ลำตัวสั้นกว่าลาร์จไวท์ และแลนด์เรซ ลำตัว หนา หลังโค้ง
– โตเต็มที่ 200-250 กิโลกรัม
– ให้ลูกไม่ดกเฉลี่ย 8-9 ตัว เลี้ยงลูกไม่เก่ง หย่านมเฉลี่ย 6-7 ตัว
– มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศทุกชนิด
– นิยมใช้เป็นสายพ่อพันธุ์เพื่อผลิตลูกผสมที่สวยงาม

หมุพันธุ์ดูร็อคเจอร์ซี่
พันธุ์เปียแตรง
– ถิ่นกำเนิดจากประเทศเบลเยี่ยม
– ลำตัวมีสีขาวจุดดำ ลายสลับ มีรูปร่างสวยงาม กล้ามเนื้อเป็นมัดๆ แผ่นหลังกว้างเป็นปีก สะโพกเห็นเด่นชัด
– โตเต็มที่ 150-200 กิโลกรัม
– มีข้อเสีย คือ ตื่นตกใจช็อคตายง่าย และโตช้า
– นิยมใช้ผสมข้ามพันธุ์ในการผลิตสุกรขุน

หมุพันธุ์เปียแตรง
สุกรพันธุ์พื้นเมืองในไทย
สุกรพันธุ์ไหหลำ
– เลี้ยงตามภาคกลางและภาคใต้ของประเทศไทย
– เป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดในสุกรพันธุ์พื้นเมือง
– มีสีดำปนขาว ตามลำตัวจะมีสีดำ ท้องมักมีสีขาว จมูกยาว คางย้อย ไหล่กว้าง หลังแอ่น สะโพกเล็ก
– อัตราการเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ได้ดีกว่าสุกรพื้นเมืองอื่นๆ

สุกรพันธุ์ไหหลำ
สุกรพันธุ์ราดหรือพวง
– เลี้ยงตามภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้
– ขนสีดำตลอดตัว มีสีขาวปนแซมเล็กน้อย จมูกยาว ลำตัวสั้นป้อม หลังแอ่น ใบหูตั้งเล็ก ผิวหนังหยาบ
สุกรพันธุ์ควาย
– เลี้ยงตามภาคเหนือและภาคกลาง
– ลักษณะคล้ายสุกรไหหลำ แตกต่างกันที่พันธุ์ควายจะมีสีดำ หูใหญ่ ปรกเล็กน้อย มีรอยย่นตามตัว
– มีขนาดใหญ่ กว่าสุกรพื้นเมืองพันธุ์อื่น
สุกรป่า
– เลี้ยงตามภาคต่าง ๆ ทั่วไป
– มีขนหยาบแข็ง สีน้ำตาลเข้มหรือสีดำเข้ม หรือสีดอกเลา หนังหนา หน้ายาว จมูกยาวและแหลมกว่าสุกรพื้นเมือง ขาเล็กและเรียว
– มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์หน้ายาว และพันธุ์หน้าสั้น
การเตรียมโรงเรือน
โรงเรือนสุกรแบบทั่วไป
คอกสุกรนิยมสร้างคอกเป็น 2 แถว มีทางเดินอยู่ตรงกลาง มีรางอาหารออยู่ด้านหน้า ก๊อกน้ำอัตโนมัติอยู่ด้านหลังคอก ก๊อกน้ำสูงจากพื้นคอกประมาณ 50 เซนติเมตร ขนาดของคอก 4×3.5 เมตร ผนังกั้นคอกสูง 1 เมตร ขังสุกรขนาด 60-100 กิโลกรัม ได้ 8-10 ตัว ส่วนความยาวของโรงเรือนก็ขึ้น อยู่กับจำนวนของสุกรที่เลี้ยงว่าต้องการความยาวของโรงเรือนเท่าใด สุกรถ้าเลี้ยงบนพื้นคอนกรีต จะใช้พื้นที่ประมาณ 1.2-1.8 ตารางเมตร/ตัว
ชนิดของโรงเรือนสุกร
– คอกพ่อพันธุ์ขนาด 2 x 2.2 เมตร สูง 1.2 เมตร (กว้างx ยาว x สูง)
– คอกแม่พันธุ์ท้องว่างขนาด 0.6 x 2.2 เมตร สูง 1 เมตร
– คอกแม่พันธุ์อุ้มท้องขนาด 1.2 x 2.2 เมตร สูง 1 เมตร
– คอกคลอด ขนาด 2 x 2.2 เมตร สูง 1 เมตร
– คอกสุกรเล็ก (ลูกสุกรหย่านมหรือน้ำหนักประมาณ 6-20 กิโลกรัม) ขนาด 1.5 x 2 เมตร สูง 0.8 เมตร
– คอกสุกรรุ่น (สุกรขนาด 20-35 กิโลกรัม) ขนาด 2 x 3 เมตร สูง 1 เมตร
โรงเรือนสุกรแบบหลุม
– ควรสร้างบนที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง อากาศถ่ายเทได้สะดวก
– สร้างโรงเรือนตามแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก
– วัสดุการก่อสร้างโรงเรือน ควรเป็นวัสดุที่หาง่ายในท้องถิ่น ตั้งแต่โครงสร้างจนถึงหลังคา เช่น ไม้ยูคาลิปตัสสำหรับทำเสาและโครงหลังคาใช้โครงไม้ไผ่ มุงหลาคาด้วยหญ้าคา แฝก จาก หรือกระเบื้อง
– พื้นที่สร้างคอกคำนวณจาก จำนวนหมู 1 ตัวต่อพื้นที่ 1.5-2 ตารางเมตร
ขั้นตอนการสร้างคอกหมูหลุม
– ขุดดินออกในส่วนพื้นที่ที่จะสร้างคอก ลึก 90 เซนติเมตร
– ใช้อิฐบล็อกกั้นด้านข้างคอกเหนือขอบหลุมสูงประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อกั้นดินและฝนสาดลงในหลุม
– ใส่วัสดุรองพื้นคอกลงไปในหลุม ประกอบด้วย ขี้เลื่อยหรือแกลบ 100 ส่วน ดินส่วนที่ขุดออกหรือปุ๋ยคอก 10 ส่วน เกลือ 0.3-0.5 ส่วน รำละเอียด 1 ส่วน
การเลี้ยงดูหมู
การจัดการพ่อหมู
-สุกรที่จะนำมาใช้เป็นพ่อพันธุ์ ควรมีอายุ 8 เดือนขึ้นไป
-ให้อาหารโปรตีน 16 % ให้กินอาหารวันละ 2 กิโลกรัม
-การให้อาหารควรดูสภาพสุกรด้วยว่าอ้วนหรือผอม

พ่อพันธุ์หมู
การจัดการแม่หมู
-ให้อาหารโปรตีน 16% ให้กินอาหารวันละ 2 กิโลกรัม
– แม่สุกรสาวควรมีอายุ 7-8 เดือน น้ำหนัก 100-120 กิโลกรัม จึงนำมาผสมพันธุ์ (เป็นสัดครั้งที่ 2-3)
– ผสมพันธุ์แล้วควรลดอาหารให้เหลือ 1.5-2 กิโลกรัม
– ตั้งท้องได้ 90-108 วัน ควรเพิ่มอาหารเป็น 2-2.5 กิโลกรัม และเมื่อตั้งท้องได้ 108 วันคลอดลูก ให้ลดอาหารลงเหลือ 1-1.5 กิโลกรัม
– แม่สุกรควรอยู่ในสภาพปานกลาง คือ ไม่อ้วน หรือผอมเกินไป
– แม่สุกรจะให้ลูกดีที่สุดในครอกที่ 3-5 และควรคัดแม่สุกรออกในครอกที่ 7 หรือ8

แม่พันธุ์หมู
การจัดการลูกสุกรแรกคลอด – หย่านม
-ลูกสุกรในระยะ 15 วันแรก ต้องการความอบอุ่นต้องจัดหาไฟกก อุณหภูมิประมาณ 32-34 องศาเซลเซียส
-ลูกสุกรอายุ 1-3 วัน ให้ฉีดธาตุเหล็กเข้ากล้ามเนื้อ ตัวละ 2 ซี.ซี เพื่อป้องกันโรคโลหิตจาง
-ลูกสุกรอายุ 10 วัน เริ่มให้อาหารสุกรนมหรืออาหารสุกรอ่อน เพื่อฝึกให้ลูกสุกรกินอาหาร
การจัดการหมูขุน
-ควรเริ่มเลี้ยงสุกรขุน ตั้งแต่ระยะที่สุกรนั้นหย่านม โดยมีน้ำหนักที่ประมาณ 20 กิโลกรัม
-ใช้อาหารที่มีโปรตีนประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ และให้สุกรกินเต็มที่ประมาณวันละ 1 – 2 กิโลกรัม
-เปลี่ยนอาหารโดยใช้อาหารที่มีโปรตีน 16 เปอร์เซ็นต์ เมื่อสุกรขุนมีน้ำหนักประมาณ 60 กิโลกรัม
-ให้สุกรกินอาหารวันละ 2.5 – 3.5 กิโลกรัม จนถึงระยะที่จะส่งตลาดเมื่อสุกรมีน้ำหนัก ประมาณ 100 กิโลกรัม และจะต้องมีน้ำ สะอาดให้สุกรกินตลอดทั้งวัน
วัตถุดิบอาหารสัตว์
1. อาหารประเภทโปรตีน ได้มาจากพืชและสัตว์
อาหารโปรตีนจากพืช
– กากถั่วเหลือง เป็นอาหารโปรตีนจากพืชที่ดีที่สุด ได้มาจากถั่วเหลืองทที่สกัดน้ำมันออก มีโปรตีนอยู่ระหว่าง 40-44 % ใช้เป็นอาหารสุกรในรูปของกากถั่วเหลืองอัดน้ำมัน (แผ่นเค็ก)
– กากถั่วลิสง เป็นผลิตผลพลอยได้จากการสกัดน้ำมันออก มีโปรตีนอยู่ประมาณ 40% ควรจะเลือกใช้แต่กากถั่วลิสงที่ใหม่ มีไขมันต่ำ
– กากเมล็ดฝ้าย เป็นผลผลิตพลอยได้จากการสกัดน้ำมันออกจากเมล็ดฝ้าย จะมีโปรตีนประมาณ 40-45 เปอร์เซ็นต์ การใช้อยู่ในขีดจำกัดไม่ควรเกิน 10 % การใช้ในระดับสูงจะทำให้การเจริญเติบโตช้าลง
– กากมะพร้าว เป็นวัตถุพลอยได้จากโรงงานสกัดน้ำมันมะพร้าว มีโปรตีนประมาณ 20%
– กากเมล็ดนุ่น เมื่อสกัดน้ำมันออกแล้วจะมีโปรตีนประมาณ 20% เหมาะที่จะใช้เลี้ยงสุกรรุ่นมากกว่าสุกรระยะอื่น ในปริมาณไม่เกิน 15%

กากถั่วเหลือง แหล่งโปรตีนของหมู
ข้อมูลเกี่ยวกับกากถั่วเหลือง https://www.goodthaifeed.com/กากถั่วเหลือง/
อาหารโปรตีนจากสัตว์
– ปลาป่น เป็นอาหารโปรตีนที่ได้จากสัตว์ที่ดีที่สุด มีโปรตีนอยู่ระหว่าง 50-60 % คุณภาพของปลาป่นขึ้นอยู่กับชนิดของปลาที่ใช้ทำปลาป่น ปลาป่นมีคุณค่าทางอาหารสูงและใช้เลี้ยงสุกรตลอดระยะถึงส่งตลาดจะทำให้เนื้อมีกลิ่นคาวจัด ดังนั้นจึงควรใช้ในระหว่าง 3-15 %
– เลือดแห้ง ได้จากโรงฆ่าสัตว์ มีโปรตีนค่อนข้างสูง 80% เป็นโปรตีนที่ย่อยยาก ทำให้การเจริญเติบโตของสุกรต่ำลง ควรใช้ร่วมกับอาหารโปรตีนชนิดอื่น ๆ ไม่ควรเกิน 5%
– หางนมผง มีโปรตีนปริมาณ 30-40 % และเป็นโปรตีนที่ย่อยง่ายแต่มีราคาแพง จึงนิยมใช้กับอาหารลูกสุกรเท่านั้น
– ขนไก่ป่น เป็นอาหารที่ได้จากผลิตผลพลอยได้จากโรงงานฆ่าไก่ มีโปรตีนค่อนข้างสูงถึง 85% เป็นโปรตีนที่ไม่สามารถย่อยได้ จึงให้สารอาหารเพียงเล็กน้อย

ปลาป่นแหล่งโปรตีนที่ดีที่สุดของหมูและสัตว์อื่นๆ เพราะโปรตีนสูง ย่อยง่าย
ข้อมูลเกี่ยวกับปลาป่น
https://www.goodthaifeed.com/ปลาป่น/
อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต
– ปลายข้าว ปลายข้าวเป็นผลิตผลพลอยได้จากการสีข้าว ปลายข้าวมีโปรตีน 8% เป็นวัตถุดิบอาหารที่เหมาะในการเลี้ยงสัตว์ ปลายข้าวที่ใช้เลี้ยงสุกรควรจะเป็นปลายข้าวเม็ดเล็ก
– รำละเอียด มีโปรตีนประมาณ 12% มีไขมันเป็นส่วนประกอบอยู่ในระดับค่อนข้างสูง มีคุณสมบัติเป็นยาระบาย โดยเฉพาะสูตรอาหารแม่สุกรอุ้มท้องและเลี้ยงลูก จะช่วยลดปัญหาแม่สุกรท้องผูก
– ข้าวโพด มีโปรตีนประมาณ 8% และมีเยื่อใยอยู่ในระดับต่ำ เหมาะในการผสมเป็นอาหารสุกร ข้าวโพดที่ดีไม่ควรมีมอดกิน ไม่มียาฆ่าแมลงปลอมปน ไม่ขึ้นรา
– มันสำปะหลัง ใช้เลี้ยงสัตว์ในรูปมันสำปะหลังตากแห้งที่เรียกว่า มันเส้น มีโปรตีนประมาณ 2% มีแป้งมาก มีเยื่อใยประมาณ 4%

รำอ่อน
ข้อมูลเกี่ยวกับรำละเอียด https://www.goodthaifeed.com/รำละเอียด/
อาหารประเภทไขมัน
– ไขมันจากสัตว์ ได้แก่ ไขมันวัว ไขมันสุกร ส่วนไขมันจากพืช ได้แก่ น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำมันรำ เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้ในอาหารสุกรเล็ก โดยเติม 2-5 % ในอาหาร
อาหารประเภทแร่ธาตุและไวตามิน
– กระดูกป่น เป็นแหล่งของธาตุแคลเซี่ยมและฟอสฟอรัสที่ดีมาก แต่มีคุณภาพไม่แน่นอน
– ไดแคลเซียมฟอสเฟส ให้ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสทำมาจากกระดูกหรือทำจากหิน
– เปลือกหอยบด ให้ธาตุแคลเซียมอย่างเดียว
– หัวไวตามินแร่ธาตุหรือพรีมิกซ์ เป็นส่วนผสมของไวตามินและแร่ธาตุปลีกย่อยทุกชนิดที่สุกรต้องการ และพร้อมที่จะนำมาผสมกับวัตถุดิบ อาหารสัตว์อย่างอื่นได้ทันที
การกินอาหารของหมู
โรคที่เกี่ยวกับหมู
โรคอหิวาต์หมู
โรคอหิวาต์หมูเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงมาก และเป็นเฉพาะหมูเท่านั้น โรคนี้นำความเสียหายมาสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเป็นอย่างมาก และเคยระบาดไปทั่วโลก รวมทั้งทวีปเอเชีย
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งคือ ทอร์เทอร์ซูอิส (Tortor suis)
ติดต่อได้โดยตรงจากการสัมผัส หรือโดยทางอ้อม จากอาหาร น้ำ ที่มีเชื้อปะปน
การเลี้ยงหมู ด้วยเศษอาหาร ที่เก็บรวบรวมจากที่ต่างๆ ซึ่งอาจมีเชื้อโรคปะปนติดมา หากอาหารที่นำมาเลี้ยงนั้น ไม่ได้ต้มให้เชื้อตายเสียก่อนแล้ว หมูจะได้รับเชื้อทันที
อาการ
หมูที่ติดโรคนี้เริ่มแรกจะมีอาการหงอยซึม เบื่ออาหาร มีไข้สูง มีอาการสั่น หลังโก่ง หูและคอตก ขนลุก ไม่ค่อยลืมตา เยื่อตาอักเสบนัยน์ตาแดงจัด มักมีขี้ตาสีขาวสีเหลืองแถวบริเวณหัวตาก่อน แล้วแผ่ไปเต็มลูกนัยน์ตา อาจทำให้ตาปิดข้างเดียว หรือสองข้าง ผิวหนังบริเวณเนื้ออ่อนๆ เช่น บริเวณท้อง โคนขา ใบหู มีลักษณะช้ำเป็นผื่นแดงปนม่วงเป็นเม็ดๆ เนื่องจากเลือดออกเป็นจุดๆ ใต้ผิวหนัง หมูจะอ่อนเพลีย ชอบนอนซุกตามมุมคอก
หมูที่เป็นโรคนี้จะมีอาการท้องผูกในตอนแรก ต่อมาจึงมีอาการอาเจียนเป็นน้ำสีเหลืองๆ มีอุจจาระร่วง และไข้ลดลง มีอาการหอบเข้าแทรก จนกระทั่งตาย หมูที่เป็นโรคนี้ ประมาณร้อยละ ๙๐ มักตาย โรคอหิวาต์หมูเป็นได้กับหมูทุกระยะการเจริญเติบโต
การป้องกันและรักษา
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้กับหมูทุกๆ ตัว ปีละครั้ง สำหรับหมูที่เพิ่งแสดงอาการเป็นโรคนี้ อาจฉีดเซรุ่มรักษาให้หายได้
โรคปากและเท้าเปื่อย
โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคระบาดที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็วของสัตว์ที่มีกีบคู่ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และหมู โรคนี้ไม่ทำให้สัตว์ถึงตายได้ แต่จะซูบผอมลง เพราะกินอาหารไม่ได้ สัตว์ที่กำลังให้นมจะหยุดให้นมชั่วระยะหนึ่ง และจำนวนน้ำนมจะลดลง
สาเหตุของโรค
เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีแบบต่างๆ กัน ในประเทศไทยเป็นแบบเอ โอ และเอเชีย โรคนี้ติดต่อได้ง่ายทางอาหารและน้ำที่มีเชื้อโรคนี้ปนอยู่ หรือติดต่อทางสัมผัสเมื่อหมูคลุกคลีกับสัตว์ที่เป็นโรค นอกจากนี้แมลงวันก็เป็นพาหะของโรคนี้ด้วย
อาการ
อาการหมูที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเริ่มเบื่ออาหาร มีไข้สูง จมูกแห้ง เซื่องซึม ภายในปากอักเสบแดง
อาการต่อมามีเม็ดตุ่มแดงที่เยื่อภายในปาก บนลิ้น ริมฝีปาก เหงือก เพดาน ตามบริเวณซอกกีบ ตุ่มเหล่านี้จะเกิดพุพอง และกลัดหนอง แล้วแตกเฟะ ทำให้หมูกินอาหารและน้ำไม่สะดวก มีน้ำลายไหลอยู่เสมอ เท้าเจ็บ เดินกะเผลก
หมูที่เป็นมากกีบจะเน่าและหลุดออก ทำให้หมูหมดกำลังและตายในที่สุด
การป้องกันและรักษา
ทำวัคซีนเมื่อลูกสุกรอายุประมาณ 7 สัปดาห์ และทำวัคซีนอีกครั้ง ในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา และสำหรับสุกรพ่อแม่พันธุ์ ทำวัคซีน ทุกๆ 4-6 เดือน
แหล่งที่มาข้อมูล: หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ขอขอบคุณข้อมูล
www.songsermkased.com/%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9-3/